ค่าลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2549
การวางแผนภาษีส่วนบุคคล เป็นการบริหารการเงินของเราอีกทางหนึ่งในหลายๆ ทาง ที่เป็นการนำสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทางภาษีไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ภาระภาษีที่มีอยู่นั้นลดลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การหักลดหย่อน หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือ ซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิ ไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เรามีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีของเราใน ฐานะบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ในปีภาษี 2549 โดยจะต้องยื่นแบบให้เสร็จสิ้นภายใน 31 มีนาคม 2550 สิทธิประโยชน์ทางภาษีในหมวดของค่าลดหย่อนที่เราควรทบทวนดู สำหรับปีภาษี 2549 เพื่อแน่ใจว่าเราได้ใช้ครบถ้วน มีดังต่อไปนี้
1.หักลดหย่อนตนเอง
ผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนให้ตนเองได้ 30,000 บาท หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ก็สามารถนำมา รวม กันเพื่อคิดภาษีและหักลดหย่อนคู่สมรสได้อีก 30,000 บาท
2.หักลดหย่อนบุตรที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี
กรณีบุตรไม่ได้ศึกษา หรือศึกษาอยู่ต่างประ เทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท
กรณีบุตรกำลังศึกษาอยู่ในประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 17,000 บาท
จำนวนบุตรที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ จะต้องไม่เกิน 3 คน นับจากคนโตสุด
3.หักลดหย่อนบิดามารดา
สรรพากรอนุญาตให้หักลดหย่อนเงินที่เราอุปการะเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ของเราได้ท่านละ 30,000 บาท
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ของเราจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนของคุณพ่อคุณแม่ของเราต้องไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะต้องอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของเราด้วย ซึ่งแสดงได้โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องออกหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว
4.เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
รวมๆ แล้วหักลดหย่อนและไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
5.เบี้ยประกันชีวิต
หากกรมธรรม์ประกันชีวิตของเรามีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในประเทศ เราสามารถนำเงินค่าเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่สูงสุดต้องหักไม่เกิน 50,000 บาท
6.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
การกู้ยืมโดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้าง เป็นประกันในการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย สามารถเอามาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
หากมีการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ อาคาร หรือห้องชุดในอาคารชุด เป็นที่อยู่อาศัยในปีนี้เกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนได้ทุกแห่ง
7.เงินสมทบประกันสังคม
หักลดหย่อนได้ตามส่วนที่เราที่จ่ายจริง
สำหรับคนที่ทำงานเอกชนและโดนนายจ้างหักส่วนนี้ทุกเดือนๆ ให้ไปดูในเอกสารรับรองเงินได้จากนายจ้าง ส่วนคนที่ส่งเงินเข้าประกันสังคมเพื่อตนเองก็ให้เอาเงินที่ส่งทั้งปีไปหักออก
8.ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะ ยาว (LTF)
สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกิน 300,000 บาท
9.ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เราสามารถนำเงินที่เราเอาไปซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในปีนี้ ไปหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ลงทุนจริงได้ทั้งจำนวน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าจำนวนเงินสูงสุดที่เราจะลงทุนในกองทุน RMF ในแต่ละปีได้นั้นจะต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ของเราในปีนี้ และเมื่อรวมจำนวนที่จะลงทุนได้สูงสุดนี้กับเงินสะสมเฉพาะส่วนของเราที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้วจะต้องไม่เกิน 300,000 บาทด้วย
สมมติว่า 15% ของเงินได้ปีนี้เท่ากับ 240,000 บาท แต่ปีนี้ส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund ที่บริษัทจัดให้มีบริษัท) ทั้งปี 130,000 บาท ก็จะลงทุนสูงสุดใน RMF ได้เท่ากับ 300,000 บาท - 130,000 บาท = 170,000 บาท ไม่ใช่ 240,000 บาท
10.เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา
เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุน การศึกษาในลักษณะการบริจาคให้แก่ บางสถาบันการศึกษาที่กำหนด เราบริจาคเท่าใด จะมีสิทธินำไปหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
11.เงินบริจาค
เงินบริจาคที่หักค่าลดหย่อนได้นั้นผู้มีเงินได้ต้องบริจาคเป็นเงินให้แก่การกุศลสาธารณะตามบัญชีรายชื่อที่สรรพากรกำหนด โดยหักได้เท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่างๆ ข้างต้นจนหมดแล้วทุกคนควรมีการวางแผนภาษี และควรวางแผนล่วงหน้าในแต่ละปี เพื่อให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดในการบริหารภาษีส่วนบุคคลของเราเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
|